พระปัญญานันทภิกขุ ภิกษุสี่แผ่นดิน

แม้วันนี้ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” หรือ “พระพรหมมังคลาจารย์” จะมีอายุมากถึง ๙๖ ปีแล้ว แต่ทุกวันของท่านยังคงดำเนินไปเพื่อกิจแห่งพระพุทธศาสนา ด้วยดำรงวัตรปฏิบัติอย่างเรียบง่าย ทั้งการเทศน์สั่งสอนประชาชนจนถึงการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ โดยทุกๆ เช้าวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ การแสดงปาฐกถาธรรมโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้ดำเนินมากว่า ๕๐ ปี จนเรียกได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งของพุทธศาสนิกชน

หลวงพ่อได้เล่าให้ญาติโยมอย่างติดตลกว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัล “พระแก่” ให้หลวงพ่อ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนความดีในฐานะที่ “แก่แล้วแต่ยังไม่หยุดทำงาน”

ภาพหลวงพ่อนั่งบนรถเข็นไปตามทางเดินในวัด พร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มของบรรดาศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งเด็กและ ผู้ใหญ่ต่างนั่งลงกราบไหว้ตามทางที่หลวงพ่อไป หลวงพ่อจะยกมือทักทาย จับศีรษะเด็กๆ ที่มากราบไหว้ข้างๆ รถเข็นด้วยความเมตตา

หลายคนอาจไม่ทราบว่าหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมี “พี่น้องร่วมสาบาน” ใน “ยุทธจักรแห่งธรรมะ” ที่นำทัพต่อสู้กับ “ฝ่ายอธรรม” หรือ “กิเลส” ซึ่งอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ กล่าวคือ ท่านปัญญานันทภิกขุ เป็นท่านน้องเล็ก พระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร) เป็นท่านพี่รอง และ ท่านพุทธทาสภิกขุ คือท่านพี่ใหญ่ อุดมการณ์เพื่อศาสนาของหลวงพ่อจึงไม่แตกต่างจาก “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน” อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ

พระบุญชวน เขมาภิรัต ชาวพุทธทั่วไปไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไหร่นัก ท่านเป็นกวีที่แท้จริงที่มหัศจรรย์ยิ่ง เหมาะสมกับสมณศักดิ์ล่าสุดว่า “พระราชญาณกวี” งานเขียนบทกลอนสอนธรรมของท่านได้ลงตีพิมพ์ติดต่อกันในหนังสือ “พุทธจักร” รวมทั้ง งานเขียนแปลบทกวีภาษาอังกฤษเป็นบทกวีไทย ที่มีความไพเราะลึกซึ้งมาก โดยใช้นามปากกาว่า “บ.ช.เขมาภิรัต”

หลวงพ่อพูดถึงหลวงพ่อบุญชวน ว่า “พี่ท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน จะทำอะไรต้องให้สำเร็จในบัดเดียวนั้น บางทีค้นคว้าหนังสือเพื่อหาคำตอบบางเรื่อง ก็หมกมุ่นอยู่นั่นแล้ว ไม่ยอมวาง ขยันเกินเหตุ ครั้งหนึ่งมีผู้เอาหนังสือแปลวิชาการภาษาต่างประเทศมาให้ท่านตรวจ ท่านอ่านแล้วขัดใจ ลงทุนแปลให้ใหม่เลย คร่ำเคร่งไม่หลับไม่นอนจนกระทั่งเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษากัน ค่อยยังชั่วแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ พี่ท่านมรณภาพเพราะซีเรียสเกินไป แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นบุคลิกของแต่ละคน”

ทั้งนี้ ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๑

“สามสหายธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุ-ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต-ท่านปัญญานันทภิกขุ

“ข้าพเจ้าขอถวายชีวิตจิตใจนี้ แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอมอบกายใจแด่พระพุทธศาสนา จะทำงานให้แก่พระศาสนาจนตลอดชีวิต” หลวงพ่อได้กล่าวคำอธิษฐานต่อหน้าพระบรมธาตุกลางเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ไม่ถึงพรรษา ระหว่างนั้นได้มีโอกาสเทศน์เป็นครั้งแรกด้วยความบังเอิญ จึงเริ่มฝึกการเทศน์จนเริ่มมีชื่อเสียง

วันหนึ่ง หลวงพ่อได้ออกเดินทางไปพร้อมกับหลวงพ่อบุญชวน เพื่อกลับไปเยี่ยมท่านพุทธทาส หลังจากวันนั้นทั้งสามเกิด “อุดมการณ์” อันมั่นคงแน่วแน่ที่ตรงกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาค้นคว้า “แนวทางใหม่” ให้แก่พระพุทธศาสนา

แต่เดิม หลวงพ่อตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นสมภารที่วัดใด นอกเสียจากว่าเป็นวัดใหม่หรือวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์ เพราะหากมีพระประจำวัดอยู่แล้ว จะทำการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ได้ลำบาก กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน (ในสมัยนั้น) ได้นิมนต์หลวงพ่อปัญญาฯ ลงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่

ในสมัยนั้น การเดินทางมาวัดนี้ค่อนข้างลำบากเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ ทว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลวงพ่อที่ต้องการสร้างรากฐาน พัฒนา และบุกเบิกการเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง หลวงพ่อจึงเริ่มงานจากการ “ปฏิรูปทางจิตใจ” ไม่เน้นการสร้างพุทธสถานโอ่อ่าอลังการ มีการแก้ไขพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง เช่น พิธีบวชที่เน้นความเรียบง่าย โดยผู้ที่มีความประสงค์จะบวชจะต้องผ่านการทดสอบโดยการสวดมนต์เช้า-เย็น ส่วนพิธีงานศพ ไม่อนุญาตให้มีการเล่นพนัน กินเหล้าในงาน งดเว้นการสวดบาลี เพราะเห็นว่าสวดไปคนก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านจึงเปลี่ยนเป็นการเทศน์เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แทน

จวบจนถึงปัจจุบัน ภาพอันน่าปลาบปลื้มปีติได้เกิดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ณ ลานหินโค้ง (ลานไผ่) แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์แห่งนี้ ซึ่งจะเต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนหลักร้อยหลักพัน ไม่ใช่เหตุเพราะมีงานปลุกเสกหรือแจกเครื่องรางของขลัง หากแต่เป็นเพราะพุทธานุภาพของหลวงพ่อที่ได้เทศน์สั่งสอนผู้คนมาหลายยุคหลาย สมัย จนทำให้ที่นี่คลาคล่ำไปด้วยประชาชน ทั้งคนหนุ่มสาว ครอบครัว และคนชรา ที่ต่างมาร่วมกันมาทำบุญตักบาตร เลี้ยงเพลพระ ไม่ต้องไปให้ใครเสกวัตถุมงคลให้ มานี่ มาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์นี่ จะ “เสกความดี” ใส่ตัวให้

ด้วยความที่หลวงพ่อเป็น “พระนักพัฒนา” ในวันนี้ วัดชลประทานรังสฤษฎ์จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ หากแต่ยังประโยชน์สำหรับฆราวาสเพื่อศึกษาพระธรรมและทำกิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนไทย

Find the best web hosting service and read ipage review for more information.

มูลนิธิภิกขุปัญญานันทะ | Develop by บ้านจิตอาสา | Webmaster : poonpreecha@volunteerspirit.org