การทำศพแบบประหยัด

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

ฤดูนี้เป็นฤดูร้อน มีการงานต่างๆ เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่นว่างานศพบ้าง งานบวชนาคบ้าง งานแต่งงาน ก็มีบ้าง แต่ใม่ค่อยจะมากนัก นอกนั้นก็มีงานวัดต่างๆ จัดขึ้นเพราะเป็นหน้าร้อน คนว่างจากงานจากการแล้วก็ได้มาเที่ยวงาน สนุกสนานกันเต็มที่ ได้ผลประโยชน์เป็นเงินเป็นทองบ้าง ไม่สู้จะมากนัก แต่ว่าก็จัดกันอยู่ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะงานบางประเภท เมื่อได้เห็นแล้วก็มีความคิดเกิดขึ้นในใจว่า น่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ไห้ดีขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เรื่องที่ควรจะแก้ไขนั้น มีหลายเรื่องหลายประการ

วันนี้ก็อยากจะพูดฝากไว้กับญาติโยม แล้วบันทึกไว้เป็นตัวอักษร เพื่อจะได้พิมพ์ออกไปให้แพร่หลายต่อไป เพราะว่างานที่ทำกันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น เราไม่ได้ถือหลักความจริงของงาน คือไม่รู้ว่าทำงานเพื่ออะไร ทำแล้วจะได้อะไร ทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้น เราไม่ค่อยจะคิดถึงปัญหานี้

ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นนักคิด นักศึกษาค้นคว้าในเรื่องอะไรต่างๆ เพราะลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส ในอะไรต่างๆ เมื่อเราจะทำงานอะไร เราจึงครรจะคิดว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนั้นทำไม จะต้องทำอย่างนี้ ทำเพื่ออะไร จุดหมายของการกระทำนั้นอยู่ที่อะไร น่าคิด แล้วก็ควรจะได้ทำเอาแต่เฉพาะที่ต้องการ ส่วนใดที่เป็นเปลือกเป็นฝอย ทำให้เสียเวลา ทำให้เกิดการชักช้า เราก็ควรจะตัดออกไปเสียบ้าง เพื่อเอาแต่เนื้อๆ มันจะสะดวกดีขึ้น

อาตมาไปในงานต่างๆ บ่อยๆ แล้วก็นั่งดูที่เขาทำงาน บางงานก็สอดแทรกเข้าไปได้ ที่จะช่วยให้เขาประหยัดเวลา เรี่ยวแรง เงิน ทอง เขาก็ทำตาม แต่ว่าบางงานก็ไม่สามารถจะสอดแทรกเข้าไปได้ ก็เลยนั่งดูอยู่ด้วยความสังเวชสลดใจ สังเวชสลดใจในแง่ที่ว่า ทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า หมดเงินมากมาย แต่ผลที่จะได้นั้นน้อย ประโยชน์ทางกายก็ไม่คุ้ม ประโยชน์ทางจิตทางวิญาณก็ไม่คุ้ม แต่ทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าเขาทำกันมาอย่างนั้น ที่เขาทำกันมาอย่างนั้นในบางอย่างก็ดี แต่บางอย่างไม่เข้าท่า ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขทำให้ดีขึ้น แต่ว่าไม่มีใครคิดแก้ ไม่มีไครคิดถึงปัญหา เงินทองที่สิ้นเปลือง ไม่มีใครคิดถึง เวลา เรี่ยวแรง ที่เราต้องลงทุน ไปอย่างมากมาย เพื่อทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ แต่ว่าผลที่จะได้มันไม่คุ้มกัน ถ้าพูดในทางการค้าก็เรียกว่าลงทุน แต่ว่าไม่ได้กำไร ห้างร้านใดๆ ก็ตามถ้ามีการลงทุนแล้วไม่ได้กำไร มันก็ต้องล้มละลายกันแน่ ไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไป

ในเรื่องการทำงานในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน เราไม่ค่อยได้คิดว่าจะได้อะไรสักเท่าใด เพียงแต่ได้นิดหน่อยก็นึกพอใจ แล้วอย่างนี้จะไม่ก้าวหน้าในงานนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้คิดแก้ไขกัน เพื่อทำให้ดีขึ้น ความจริงหน้าที่แก้ไขอะไรต่างๆ นั้นอยู่ที่กองวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ มีหัวหน้ากองเป็นถึงชั้นพิเศษ เรียกว่า เป็นซี ๑๑ หรือ ๑๒ เข้าไปแล้ว แต่ว่าก็ไม่ปรากฏผลงานอันใดออกมา กรรมการก็มาก ทำงานกันอยู่ แต่ไม่ค่อยปรากฏผลในรูปของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นงานของกรมนั้น กองนั้น ก็ยังไม่เป็นวัฒนะ คือยังไม่เจริญอะไร

ทำไมจึงไม่กล้าทำอะไรลงไป ก็เกรงว่าจะไม่ลำเร็จเกรงว่าคนเขาจะไม่ยินดีด้วย อันนี้เราต้องวางแผน ในเมื่อจะทำอะไรมันต้องวางแผน โฆษณาชักจูง โน้มน้อมจิตใจ แล้วก็ต้องร่วมงานกันหลายฝ่าย เช่นว่า ถ้ากองวัฒนธรรมจะคิดทำอะไร ขึ้นมา ก็ต้องร่วมมือกับพระสงฆ์องค์เจ้า เอาพระไปร่วมเป็นกรรมการ ปรึกษาหารือกัน แนะวิธีการที่จะพึงจัดพึงทำ เพราะว่า เรื่องพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เกี่ยวเนื่องกับวัดเป็นส่วนมาก เกี่ยวเนื่องกับพระเป็นส่วนมาก แต่พระของเรานั้นพูดไปแล้ว เหมือนกับว่าจะติพวกกันเอง คือยังไม่มีสมรรถภาพในการที่จะแก้ไขอะไร ทำอะไรก็ทำไปตามโบราณ ตามเรื่องตามราว ไม่สามารถที่จะอธิบายให้โยมเข้าใจได้ว่า ไม่ทำอย่างนั้นก็ได้ ทำอย่างอื่นก็ได้ ผลมันก็เท่ากัน

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เมื่อวานนี้อาตมาไปในงานศพ บิดาคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ซึ่งเป็นพวกเผยแผ่ธรรมะ แล้วก็ขวนขวายในเรื่องอะไรต่ออะไรอยู่มาก ก็นิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ก็ได้แสดงให้เขาฟังกันไปตามเรื่อง เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว ก็มีการสวดมาติกาบังสุกุล พอมาติกาบังสุกุลเสร็จแล้ว ก็เห็นเอาผ้ามามากมาย ผ้าอาบน้ำฝนผืนเล็กๆ สั้นๆ เอามามากมาย ก็เลยถามว่า ทำอะไรอีกผ้านั้น บอกว่า จะมาชักมหาบังสุกุล

การชักมหาบังสุกุลที่อยุธยาเมืองสุพรรณ ทำกันแบบที่เรียกว่า ช้าเหลือเกิน เพราะว่าทำมาก ทำนาน เขาทำอย่างไร หีบศพวางไว้ตรงนี้ แล้วก็ดึงผ้าสายโยง ที่เขาทำสวยๆ ดีไปที่พื้น แล้วก็เชิญคนให้มาทอดผ้า คนที่รับเชิญให้มาทอดผ้านั้น ล้วนแต่เป็นคนแก่ๆ ทั้งนั้น กว่าจะได้เคลื่อนองค์ ลงจากบัลลังก์เสียเวลาหลายนาที เรียกแล้วยังไม่ได้ยิน เพราะคนแก่หูท่านตึง ต้องเรียกซ้ำ เรียกซ้ำแล้วก็ยังไม่เคลื่อนไหว ต้องไปบอกว่า เขาเรียกแล้ว แล้วแกก็ค่อยๆ ต้วมเตี้ยมๆ มา ไม่ใช่เดิน เขาเรียกว่าคลานมา มาถึงก็เอาผ้าทอด ทอดทีละ ๑๐ ผืนหรือ ๑๕ ผืน แต่ว่า ๑๕ คนที่เคลื่อนไหวนั้น เชื่องช้าทั้งหมด เพราะเป็นคนแก่ แล้วก็ค่อยออกไป ถอยออกไป แลัวก็นิมนต์พระ ก็ต้องอ่านรายชื่อว่าพระองค์นั้นๆ พระกว่าจะได้มาชักก็อีกหลายนาที

สมมติว่าจะชักผ้ามหาบังสุกุลสัก ๔๐ ผืน ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมง อาตมาเคยไปเห็น เห็นแล้วก็ถามสมภารว่า ทำไมทำกันอยู่อย่างนี้ ท่านสมภารบอกว่า เขาทำกันมาอย่างนี้นานแล้ว แล้วทำไมไม่คิดแก้เสียบ้าง บอกว่ามันแก้ไม่ได้ เขาทำกันมานานแล้ว นี่แหละคือความไม่มีความสามารถ ที่จะพูดให้โยมเข้าใจในเรื่องนี้

อาตมาพอเห็นเช่นนั้นก็นึกว่าไม่ได้ คนกรุงเทพฯ มาเผาศพหลายคน ถ้าขืนชักช้าอยู่พวกก็จะมืด กลับบ้านลำบาก มาได้ถนนมันดี แต่มืดๆ ขับรถไม่ดี เดี๋ยวไปสะเออะ ๑๐ ล้อเข้าก็จะลำบาก ก็เลยเข้าไปจะพูดกับโยมคน แก่ที่เป็นมารดา พอจะพูดคนนั้นก็จะพูดคนนี้ก็จะพูดเลยตบขา ทุกคนนั่งนิ่งๆ ฉันพูดเอง เลยก็บอกว่า โยมจะให้ทอดผ้าตรงนี้ เรียกว่าทอดผ้ามหาบังสุกุล เมื่อตะกีนี้พระทั้งหมดได้ชักบังสุกุลแล้ว ได้กล่าวคำว่า อนิจจา วต สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปัตชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสโม สุโข เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านได้พิจารณาศพในโลงแล้ว ผ้าที่ยังมีอยู่ไม่ต้องชักตรงนี้อีก เพราะเวลามันจะไม่พอ เอาไปถวายเลย บอกโยมลุกขึ้น โยมก็ลุกข้นให้ไปถวาย โยมถวายองค์ หนึ่งอาตมาบอกว่าโยมไปนั่งได้ คนแก่หลังโกงเดินลำบาก บอกว่า องค์เดียวก็พอแล้ว เราช่วยกันถวายก็แล้วกัน อาตมาก็ช่วยดึงมา ถวายองค์นั้น ถวายองค์นี้ วิ่งถวายพักเดียว เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ให้โยมไปนั่งได้

เรื่องประเคนของ เราอย่าไปกวนคนแก่ให้มาประเคนมากนัก ให้แกจับสักนิดหน่อยแล้วบอกว่า คุณยายนั่งได้แล้ว คุณแม่นั่งได้แล้ว ไม่ใช่มันจะได้อะไรตรงประเคนมากนักหนาหรอก อยู่ที่ใจอนุโมทนา เมื่อคนอื่นประเคนก็พลอยดีใจพร้อม อนุโมทนา มันก็พอแล้ว เราให้คนแก่นั่งสบายๆ อย่าไปรบกวน ให้มาประเคนอะไรให้มากนักเลย เอาสักนิดหนึ่ง เสร็จแล้วก็หมดเรื่อง

ทีนี้ก็จะยกศพลง เขาก็ให้อาตมาจูงศพ เพราะว่าเป็นพระมีชื่อมีเสียงหน่อย ก็เลยไปจูงให้เขา พอจูงมาถึงสมภารเดินอยูข้างหลังว่า หลวงพ่อเดินด้านซ้าย บอกว่า รู้แล้วเรื่องนั้น บอกว่า ไม่ต้องเวียนแล้ว เวลามันไม่พอ เอาขึ้นเมรุเลย เลยมาถึงให้เขาเข็นไปบนเมรุเลย ไม่ต้องไปเดินเวียนอยู่ เวียน ๓ รอบเพื่ออะไรเราไม่เข้าใจเรื่อง ก็นึกว่าต้องเวียนกันอยู่เรื่อยไป ไม่เวียนก็ได้ไม่ใช่จำเป็นจะต้องเวียนเสมอไป แล้วถ้าเมรุมันกว้าง เวียนตั้ง ๓ รอบ มันก็เสียเวลานาน เราเวียนสักรอบหนึ่งก็พอแล้วถ้าจะเวียน แต่ถ้าไม่เวียนก็ไม่ใช่จะเสียหายอะไร ไม่ใช่ยอดบุญมันอยู่ตรงที่พาศพเวียนเมรุ ไม่ใช่ ไม่อยู่ตรงนั้น พอถึงก็เอาขึ้นไปบนเมรุเลย แล้วก็เมรุบ้านนอกเขาเรียกว่า เมรุเช่า มันกรอบแกรบกรวบเกรียบ เดินเหินมันสบายกับเขาเมื่อไร แล้วก็ชอบทำสูงๆ คนแก่ๆ ขึ้นเผาก็ลำบาก เผาแล้วลงก็ลำบาก แต่เขาชอบเมรุอย่างนั้น คือไปเช่าเขามา

เลยบอกว่า ขึ้นเลยไม่ต้องเวียนแล้ว เวียนกันมานานแล้ว เอาขึ้นเผาเลย ขึ้นเสร็จแล้วถามว่าทำอะไรอีก จะเชิญคนให้มาทอดผ้า ผ้าอยู่ไหนไปเอามาซิ ไปเอาผ้าผืนเล็กๆ ผ้าอาบน้ำฝนที่เหลือเมื่อตะกี้นี่ ใส่พานมาเลยบอกว่าพานไม่ต้องใส่ เอาพานไปวางไว้ตรงโน้นข้างบน แล้วก็เอาผ้ามอบให้คนที่จะทอด ทอดเสร็จแล้วก็ให้จุดไฟเลย ก็เลยสั้นไปหน่อย ระยะมันสั้น นี่แหละคือว่าเราทำเพราะไม่รู้ พระเราก็ไม่ค่อยจะอธิบายให้โยมเข้าใจ ว่าทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ถ้าพูดให้เข้าใจกันเสียก็หมดเรื่อง ก็ไม่เสียเวลาไม่ชักช้า งานการก็สะดวกรวดเร็วดี

เพราะฉะนั้นจึงใคร่จะทำความเข้าใจ ไว้ในที่นี้สักเล็กน้อยว่า พิธีกรรมนั้น มันเป็นเครื่องเล่น สำหรับคนที่ยังขาด ปัญญา แต่ผู้มีปัญญารู้จุดหมายของการกระทำแล้ว เขาไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องขลังอะไร ไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไร เราต้องดูเวลา เวลาที่เราจะทำนั้นว่ามันจะพอไหม ถ้าเราไปนั่งทำพิธีกันอยู่ เมื่อเวลามันน้อยมันสั้น ไม่พอที่จะทำอย่างนั้น เราจะตัดพิธีเหล่านั้นออกเสียบ้าง ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะนั่นไม่ใช่เนื้อแท้

ถ้าเราจะแกงเนื้อ ไม่ใส่เครื่องก็ได้ถ้าเวลามันจำกัด เอาเนื้อใส่น้ำแล้วก็ต้มให้มันเดือด ให้มันสุก แล้วก็กินได้ เพราะต้องรีบไป แต่ถ้าไม่รีบไม่ร้อน จะมานั่งโขลกน้ำพริกอยู่ ใส่ไอ้นั่นใส่ไอ้นีให้มันอร่อยจนน้ำมูกน้ำตาไหลก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ว่ามันก็ใช้ได้ ถ้าเราดูว่าเวลามันน้อยเต็มทนแล้ว มันสั้นแล้ว ต้องตัดทิ้งไป

อย่าไปตกใจว่า แหม่ ไม่ได้ทำอย่างนั้นไม่ได้ทำอย่างนี้คุณพ่อจะไม่ได้รับผล มันไปไกลถึงขนาดอย่างนั้น ความจริงไม่ต้องอย่างนั้นก็ได้ เพราะพิธีกรรมไม่ใช่เนื้อแท้ มันเป็นเปลือกเท่านั้นเอง

ทีนี้บางครั้งบางคราวก็ต้องเอาเปลือกออกเสียบ้าง เพื่อจะได้กินเนื้อใน ถ้าว่าเรารีบร้อนไม่ต้องเอาเปลือกก็ได้ หลักการมันควรจะเป็นอย่างนั้น แต่คนเรามันติดในเรื่องอะไรเข้าไปแล้ว แกะออกยาก นี่แหละเขาเรียกว่า อุปปาทาน ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความคิดความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพนี ว่าต้องอย่างนั้น ว่าต้องอย่างนี้ ถ้าขาดไปแล้วก็ไม่สบายใจ ก็เป็นอุปาทานที่สร้างปัญหายุ่งยากอยู่ไม่ใช่น้อย เรื่องงานศพที่ทำๆ กันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น มีที่จะตัดออกไปได้หลายเรื่องหลายประการ

เริ่มต้น เช่นเราไปตั้งศพ อาตมาอยากจะแนะนำญาติโยมว่า เรื่องศพไม่ควรจะเก็บไว้นานๆ เกินไป ถ้าเราตัดสินว่าจะเผาก็เผาไป ถ้าตัดสินว่าจะฝังก็ฝังไป เอาอย่างไหน เอาฝังหรือเอาเผา ถ้าเอาเผาก็รีบเผาไป ฝังก็รีบฝังไป จะไปเก็บไว้ทำไมนานๆ ทำให้เกิดกังวลห่วงใย ร่างกายของคนก็ใม่ใช่เที่ยงแท้ถาวรเมื่อไร บางทีมันเกิดเจ็บไข้ตายเป็นลงมา ยังไม่ได้เผา คนที่ตายลงไป เราตายตามไปอีกคนหนึ่ง เลยก็ต้องเผากัน ๒ รายไป

เหมือนกับที่จังหวัดสงขลา สมภารองค์หนึ่งสิ้นบุญไป สิ้นบุญไปแล้วยังไม่ได้เผา องค์ที่ ๒ ตายตามไปอีกแล้ว เลยกลายเป็นต้องเผาสมภาร ๒ องค์ แล้วก็ตั้งองค์ที่ ๓ ขึ้นมา องค์ที่ ๓ หนุ่มหน่อย คงจะไม่ตายถึง ๓ องค์ในวัดนั้นแน่ ไม่อย่างนั้นก็คงจะได้เผากัน ๓ องค์รวดเลยทีเดียว นี่เพราะความชักช้า

ความจริงนั้น เมื่อท่านสิ้นบุญแล้ว ก็รีบเผาๆ ไปเสียให้หมดเรื่อง ที่ช้าไม่ใช่เรื่องอะไรเรื่องว่าจะทำให้ทำให้สมเกียรติ คำว่า เกียรติไม่รู้อะไรกันแน่ เอาเกียรติขนาดไหน เอาอะไรมาวัดความมีเกียรติอะไรต่างๆ กัน เราก็วัดกันไม่ได้ เลยก็ต้องชักช้าเสียเวลากันไปนานๆ จึงจะได้เผาลงไป อย่างนี้มีอยู่ทั่วๆ ไป ความจริงนั้นเมื่อสิ้นบุญแล้ว ควรจะรีบจัดการเสียให้เรียบร้อย ตามเรื่องตามประเพณีที่เรากระทำกัน ไม่ต้องไว้นานเกินไป ที่ไว้นานๆ ก็เรียกว่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นว่าเราสวด ๗ คืน ก็สวดอย่างนั้น สวดซ้ำกันอยู่อย่างนั้น

คืนแรกก็สวดอย่างนั้น คืน ๒ หรือ ๗ คืนก็สวดอย่างนั้น สวดเรื่องเดียว ไม่ใช่สวดหลายเรื่อง แล้วเรื่องเดียวก็ไม่ใช่ฟังรู้เรื่องอะไร เพราะว่าญาติโยมที่ไปนั่งฟังไม่รู้เลยว่าพระสวดอะไร เลยเราพูดว่า พระท่านสวดผีไป หรือว่าท่านสวดศพไป มันเป็นอย่างนั้นไปได้ เพราะว่าคนเป็นไม่รู้ ก็เลยนึกว่าสวดให้ผีในโลงฟัง เพราะเวลาจะสวดก็ยังไปเคาะข้างโลง ไปปลุกบอกว่า คุณพ่อลุกขึ้นฟังสวด แปลว่าพระสวดภาษาที่ผีฟังได้ แต่ว่ามนุษย์ที่เป็นๆ ฟังไม่รู้เรื่อง ก็สวดกันอยู่อย่างนั้น สวดตามเรื่องตามประเพณี อย่างนี้เขาเรียกว่า ทำไปด้วยความเข้าใจอย่างนั้น ซึ่งมันไม่ได้ถูกต้องอะไร

สมมติว่าเราไม่สวดจะได้ไหม มันก็ได้ ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรว่าจะต้องสวด เพราะการสวดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับ ศพ แต่จุดหมายสำคัญนั้น ต้องการทำให้คนเป็นรู้เรื่อง ให้คนเป็นเข้าใจ แต่เรากลับทำสิ่งที่คนเป็นไม่เข้าใจ มันเขวไปอย่างนี้ เพราะไปติดประเพณีสวดศพ โดยไม่รู้ว่าสวดเพื่อทำอะไร ให้เรารู้ว่าสวดให้คนเป็นฟัง

แล้วเมื่อสวดให้คนเป็นฟังคนเป็นไม่รู้ภาษาที่สวด สวดไปทำไม มันต้องสวดภาษาที่คนเป็นฟังรู้เรื่อง เมื่อจะสวดภาษาที่คนเป็นฟังรู้เรื่อง ก็ต้องแสดงธรรม เช่นสมมติว่า พอมาประชุมพร้อมกันแล้ว เราแสดงธรรมเลยก็ได้ ถึงเวลาพร้อมแล้ว ทุ่มครึ่งพร้อม พระแสดงธรรมให้ฟัง พอแสดงธรรมเสร็จแล้วก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง เราจะถวายอะไรก็ถวายไปกับพระที่แสดงธรรมก็ได้ หรือไม่ถวายพระก็ถวายเป็นกองกลางไป ถวายเป็นส่วนก่อสร้างโรงเรียนไป อะไรต่ออะไรไปตามเรื่องตามราว จะได้ประโยชน์กว่า ได้อานิสงส์มากกว่าที่เราทำซ้ำแล้วซ้ำอีกกันอยู่อย่างนั้น

คนที่มีพรรคมีพวกมาก คนก็มาช่วยกันสวด ทำกันอยู่อย่างนั้น ทำไมเราจึงไม่สามารถจะรวมคนมาทำสั้นๆ เช่นว่า เจ้าภาพมี ๑๐ เจ้าภาพ เอาสัก ๒ คืนๆ ละ ๕ เจ้าภาพ หรือ จะมาอีกสัก ๕ ก็เอาสัก ๓ คืน มารวมกัน เมื่อรวมกันปัจจัยก็มาก ปัจจัยที่มากนั้นจะเอาไปถวายพระที่เทศน์ที่สวด มันก็มากเกินไป เพราะถวายส่วนบุคคลนี่ ถวายมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน คือพระท่านฟุ้งซ่านได้ ได้มากแล้วมันเกิดกิเลส อยากจะไปนุ่งกางเกงยีนอะไรกับเขาบ้าง เพราะว่ามีสตางค์เหลือใช้ เราไม่ยุให้พระเกิดกิเลส เราก็ไม่ถวายพระมาก

แต่เราถวายเป็นกองกลาง ถวายเป็นทุนของวัด ถวายเป็นมูลนิธิให้แก่วัด หรือว่าวัดทำอะไรอยู่ เราก็สมทบสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งวัดกำลังก่อสร้าง อันนี้จะช่วยให้พระศาสนาสดใสขึ้น เพราะว่าพระไม่มีสตางค์ใช้ พระมีสตางค์ใช้นี่มันยุ่งอยู่เวลานี้ ยุ่ง เป็นปัญหา วัดไหนมีรายได้แย่งกันเป็นสมภาร วัดไหนไม่มีอะไร จ้างให้ไปเป็นก็ไม่ไปเป็น นี่มันเรื่องอะไร มันเรื่องตัวปัจจัยตัวเดียว ที่มันยุ่งๆ กันอยู่นี้ วัดไหนมีป่าช้า เผาผีบ่อยๆ ใครๆ ก็อยากเป็นสมภาร เพราะว่าเทศน์ทีไรสมภารก็ลงเทศน์ทุกที บางทีก็เทศน์คนฟังไม่รู้ว่าท่านเทศน์เรื่องอะไรหรอก แต่ว่าก็ยกหน้ากัณฑ์กลับกุฏิเท่ากันนั่นแหละ ไม่ได้เรื่องอะไร อย่างนี้เราก็เปลี่ยนนโยบายได้

คือเปลี่ยนว่าเราถวายเป็นส่วนรวม หรือถวายเป็นทุนของวัดจะดีกว่า เพราะวัดจะได้เก็บสิ่งนั้นไว้ใช้นานๆ จะได้เป็นประโยชน์ต่อไป ดีกว่าถวายเป็นส่วนบุคคล ส่วนบุคคลนั้นถ้าเรารู้จักมักคุ้นกับพระในวัด เราปวารณาไว้กับสมภารก็ได้ ถ้าพระขาดจีวรแล้วบอกดิฉัน ดิฉันจะซื้อถวาย ขาดหนังสือขาดสมุด จะจัดถวาย อันนี้เรียกว่าทำบุญถูกต้อง ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่ฟู่มเฟื่อย ไม่สุรุ่ยสุร่าย พระก็สะดวกสบาย ได้ปัจจัยพอใช้ไม่ขาดแคลน คือไม่ขาดในสิ่งจำเป็นจะต้องใช้ ไม่เหลือเฟือในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้ มันก็ดีขึ้น เป็นประโยชน์ขึ้น ก็เป็นการปรับปรุงองค์การศาสนาไปด้วยในตัว อย่างนี้จะเป็นการถูกต้อง

เพราะฉะนั้นเมื่อเราตั้งศพไว้ เราก็ตั้งไว้เพื่อพิจารณา ตั้งไว้เพื่อให้คนมาศึกษาอะไรๆ จากงานศพ ในงานศพนั้นจึงต้องมีเฉพาะเรื่องพูดธรรมะ สนทนาธรรมะกัน หรือว่าให้พระมาแสดงธรรม แสดงธรรมเสร็จแล้วมีข้อสงสัย เราก็มานั่งคุยกัน สมควรเวลาแล้วก็ปิดศาลากลับบ้านได้ เอาไว้สัก ๒-๓ คืน แล้วก็จัดการเผากันไปตามหน้าที่ เรื่องการทำบุญนั้น แม้ไม่มีศพอยู่ก็ทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีศพเสมอไป เผาศพเสร็จแล้วเราก็ทำได้ เรานึกถึงคนที่ตายเมื่อใด เราทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ตายนั้นๆ ตามธรรมเนียมก็ใช้ได้ ไม่จ่าเป็นจะต้องว่ากันมากมายก่ายกองอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องน่าคิด

คือทำให้เป็นประโยชน์แก่คนเป็น เพราะจุดหมายนั้นต้องการพูดกับคนเป็น ทำไมจึงต้องการพูดกับคนเป็น เพราะคนตายมันหมดทุกข์แล้ว ตายแล้วไม่ทุกข์ นอนนิ่งเฉย ใครทำอะไรก็ไม่ว่าอะไร หมดเรื่องกัน แต่คนเป็นมีความกลุ้มใจ เพราะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็ย่อมมีความทุกข์ มีปัญหาขึ้นในชีวิต พระไปช่วยเทศน์ช่วยแสดงธรรม ให้คนนั้นได้รู้ความจริงของชีวิต ได้เอาธรรมะไปเป็นหลักกลั่นกรองทางจิตใจ จะได้เกิดความเข้าใจว่า อ้อ ธรรมดาสิ่งทั้งหลายมีเกิดก็ต้องมีตาย ก็จะได้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนไป นี่คือจุดหมายที่ต้องการ

เมื่อเรารู้จุดหมายแล้ว สิ่งที่ไม่เข้าเป้าก็ต้องลิดทิ้งออกไปเสียบ้าง เอาแต่เนื้อๆ สมมติว่ามีการทำศพ แล้วไม่สวด โยมอย่าไปตกใจว่า ไม่ได้สวดให้คุณแม่ มันไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องสวด แต่ที่สวดอยู่นั้น เพื่อเอาใจโยมเท่านั้นเอง ไม่ให้โศกเศร้าใจ เป็นทุกข์มากเกินไป เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจกันแล้ว อาจจะไม่สวดเลยก็ได้ มีเฉพาะแต่การแสดงธรรมก็ได้ นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ว่าการสวดนั้น ไม่ใช่สวดศพสวดผี แต่เป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้ตนเป็นผู้เข้าใจธรรมะ ได้นำธรรมะไปเป็นหลักประเล้าประโลมไจ ให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ นั่นคือความถูกต้อง นี่ตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

ครั้นถึงเวลาเราจะเผาศพกัน เวลาเผาศพนี่บางศพก็ทำใหญ่โต ประดับประดาหรูหรามากมายก่ายกอง บางศพก็เอาแต่พอสัณฐานประมาณ อันนี้ก็ยุ่งอยู่เหมือนกัน คือคนที่มีสตางค์ทำใหญ่ ทำอะไรใหญ่ เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น คนอื่นก็อยากทำอย่างนั้นบ้าง เช่นเมื่อก่อนนี้ไม่มีการจัดดอกไม้ขึ้นไปตามราวบันได เดี๋ยวนี้มีจัดทุกแห่ง อาตมาจำได้ว่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสักปีกลายนี้เอง จัดดอกไม้ที่ราวบันได เพราะกล้วยไม้มันมากเมืองไทยเวลานี้ ดอกไม้มาก ก็เลยจัด เมื่อจัดขึ้นสักรายแล้ว รายอื่นก็ทำตาม ไม่รู้เรื่อง พอมาถึงพวกป่าช้า เพราะว่าในป่าช้ามีคนพวก หากินกับผีหลายพวกเหมือนกัน พวกสัปเหร่อเรียกว่าประจำอยู่กับผีแล้ว ทีนี้พวกจัดดอกไม้อีกพวกหนึ่ง มาติดต่อไว้กับพวกสัปเหร่อ หรือผู้จัดการป่าช้า ว่าใครต้องการดอกไม้ก็ไปติดต่อร้านฉันนะ จะได้เปอร์เซ็นต์อะไรบ้างตามสมควร เขาก็ไปติดต่อมาจัดให้

สมัยก่อนนี้เขาตั้งโลงศพไว้ แล้วเขาจัดดอกไม้ข้างๆ ใส่แจกันพอสวยพองาม เดี๋ยวนี้ดันขึ้นไปวางไว้บนโลงเลย ดูแล้วมันไม่สมควร ที่เอาดอกไม้ขึ้นไปวางไว้บนหีบศพ ถ้านึกแล้ว ก็เหมือนกับไปวางไว้บนอกคุณแม่ที่ตายแล้วอย่างนั้นแหละ ถ้าเรานึกว่า แหม ท่านคงจะหนักดอกไม้เหลือเกินแล้ว นอนอยู่นั้น มันไน่ถูก เราประดับแต่ข้างล่างก็พอแล้ว บนโลงนั้นไม่ต้องมีอะไร เอาผ้าคลุมไว้ เป็นผ้าดำก็ได้ เพื่อจะได้เห็นง่าย หรือ เป็นผ้าริบบิ้นสวยๆ มีไว้สำหรัป่าช้าเอามาคลุมไว้ แล้วก็ประดับดอกไม้ข้างล่าง ใส่แจกันวางอะไรเป็นชั้นเป็นเชิงออกไปก็พอสมควร แล้วแต่ที่ วางไว้ข้างบนนี่อาตมาไม่ค่อยชอบใจเลย ไปเห็นทีไรแล้วรู้สึกว่ามันหนักหน้าอกทุกที เพราะเอาไปวางไว้อย่างนั้น มันไม่ใช่ที่วางที่บูชา

เราไปบูชาพระพุทธรูปนี้ ใครจะเอาดอกไม้ขึ้นไปวางไว้บนพระเศียรของท่านบ้าง หรือว่าเอาไปผูกไว้บนไหล่ของท่านบ้าง มันไม่มี เขาวางไว้ข้างหน้า ข้างที่สวยๆ งามๆ ศพนี่ก็เหมือนเราจัดดอกไม้ ไม่ต้องเอาไปวางไว้บนหีบเป็นท่อนใหญ่ๆ ตกช่อช่อหนึ่งไม่ใช่น้อย ช่อละพันทีเดียวนะที่เอาไปวางไว้บนนั้น ช่อละพัน วันนั้นั้นไปที่งานศพ มีดอกไม้วางเพียง ๓ ช่อข้างล่าง ถามว่า ๓ ช่อนี่เท่าไร ๓ ช่อนี่ราคาทั้งหมดพันห้าร้อย ๓ ช่อ พันห้าร้อย แล้วก็เผา พรุ่งนี้ก็เผาแล้ว ดอกไม้นั้นจัดคืนเดียว บอกว่ามันไม่ใช่พันห้าร้อย รวมทั้งหมดสี่พัน เพราะพรุ่งนี้จัดที่บันไดด้วย เอาดอกไม้มาจัดบันไดด้วย กลายเป็นดอกไม้ สี่พันห้าพัน บางงานศพ เฉพาะดอกไม้นี่ วันเผาหมื่นหนึ่ง เอาไปจัดดอกไม้ แล้วดอกไม้นั้นก็ดูแว๊บเดียวเท่านั้นเอง ไม่ได้นานอะไรหรอก แล้วก็เหี่ยวแห้งใป ร่วงโรยไป ความจริงพวกจัดดอกไม้เขาก็เก็บคืนไป ดอกไหนเหี่ยวก็ทิ้งไป ดอกไม่เหี่ยวก็เอาไปจัดใหม่ เอาไปใส่อันอื่นต่อไป กว่ามันจะเหี่ยวจริง

อาตมาเคยแอบไปดูที่วัดมกุฎ ที่เขาจัดดอกไม้อยู่ข้างหลัง นั่งจัดกันอยู่ เอาดอกไม้เก่านั่นแหละ แต่ว่าช่อไหนมันเหี่ยวมากก็ถอดทิ้ง ช่อไหนไม่ค่อยเหี่ยวก็เอามาจัดใหม่ต่อไป พวกนี้ได้กำไรมาก เพราะของไม่ทิ้ง ทิ้งนิดหน่อย แล้วเอามาจัดใหม่เพิ่มมาปะมาชุนกันเข้า พอจะหลอกตาเจ้าของได้ จัดกันไปจัดกันมา ราคานั้นเท่าเดิม แต่ดอกไม้ไม่ต้องชื้อ เพราะเอาของเก่ามาใส่ได้ เราไปทำอย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นการสิ้นเปลืองไป แต่ว่าโยมที่มีสตางค์บอกว่า เช้อ มันเรื่องของโยมนี่ เจ้าคุณไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร มันก็ไม่ได้เหมือนกัน คือว่าเมื่อโยมคนหนึ่งทำแล้ว โยมอีกคนหนึ่งก็เอาอย่างอีก บอกว่า แหม วันนั้นศพนั้นทำอย่างนั้น ฉันก็จะทำอย่างนั้นบ้าง ถ้าไม่ให้ทำอย่างนั้น วัดไม่นุญาต เอ้า ! โกรธวัดอีก บอกไม่ไหววัดนั้น ไม่ให้ทำอย่างนั้น

ความจริงวัดที่ไม่ให้ทำคือช่วยให้ฉิบหายน้อยลงสักหน่อยเท่านั้นเอง แต่เจ้าของกลับไม่ชอบ เพราะว่ามันเสียหน้าไป ไม่ได้จัดอย่างนั้น การจัดฟุ่มเฟือยนี้เกิดมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ แล้วคนจัดดอกไม้ก็จัดแบบต่างๆ เป็นช่อรูปอย่างนั้น รูปอย่างนี้ ให้มันแปลกๆ แปลกทีไรเพิ่มเงินทุกที ไม่ใช่ลด ถ้าแปลกแล้วเงินก็เพิ่มขึ้นไป แล้วมันหนักกับใคร ก็หนักกับเจ้าภาพนั่นเอง เจ้าภาพจะต้องทำลงไปด้วยความหนักอกหนักใจ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาทำกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นระเบียบขึ้นมา ว่าทำศพต้องอย่างนั้น ให้มันเหมือนกัน ไม่ต้องมีการลดหลั่น แยกศพแยกผีกันต่อไป ให้มันเหมือนกันไป มีอะไรก็ทำแบบเดียวกัน เอาง่ายๆ เรื่องที่ควรทำกลับไม่ได้ทำ แต่กลับทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ที่เป็นอยู่เวลานี้มันเป็นอย่างนั้น นี่คือการจัดดอกไม้ เพื่อจะอวดคนเวลาไปเผาศพกัน นี้เรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ของถวายพระ อยากจะบอกโยมว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องทอดผ้าบังสุกุลมากมายก่ายกอง ไม่ต้องมากอะไร บางศพทอดตั้ง ๑๐ ไตร แล้วผู้มีเกียรติมากเหลือเกิน เดี๋ยวเชิญคนนั้น เชิญคนโน้น เชิญกัน เวลาจะเชิญก็มายืนปรึกษากันว่า จะเอาใครก่อนจะเอาใครหลัง ผู้มีเกียรติมันมาก นานๆ เข้าก็ต้องจับสลาก ว่าให้ไครขึ้นก่อนใครขึ้นหลังกันแล้ว เพราะมันหลายคนเกินไป อาตมาฟังแล้วบอกว่า แหม รำคาญจริงๆ เอามันตามลำดับก็แล้วกัน ของใครก็ของใคร ทีนี้มีลูกหลายคน เชิญนายของตัวมา เมื่อเชิญมาก็ต้องให้นายได้ขึ้นไปทอดไตรบ้าง ก็เลยหาผ้าไตรมาให้ทอด ผ้าไตรนั้นเอามาจากไหน ก็สั่งที่ป่าช้านั่นแหละ เผาวัดโสมนัส ก็สั่งที่ป่าช้าวัดโสมนัสแหละ ป่าช้าเขาเตรียมผ้าไตรไว้แล้ว สำหรับให้ทอดเอาหน้า แต่ไม่ได้ใช้หรอกผ้าไตรนั้น พอทอดเสร็จแล้ว ถ้าเป็นพระวัดโสม ก็ถือลงมาแล้วสัปเหร่อก็เอาปัจจัยไปถวาย สมมติถวายสัก ๕๐ บาท ก็เอาผ้าไตรคืนมา คนอื่นมาก็ผ้าไตรนั้นอีกแหละ ทอดไปทอดมา

ถ้าผ้าไตรร้องได้ แหมกูนี่ถูกทอดหลายหนแล้วนา ยังไม่มีใครเปิดถุงพล๊าสติกออกใช้เลยสักรายเดียว มันเป็นอยู่อย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าทำซ้ำไปซ้ำมากันอยู่อย่างนั้น เราไม่ได้คิดว่าเราทำทำไม ทำเพื่ออะไร การที่เอาผ้าไปทอดนั้น เพื่อถวายผ้าแก่พระ แล้วถ้าพระท่านมีผ้าใช้อยู่แล้ว จะไปทอดทำไม สมมติว่าญาติทำศพที่วัดมกุฎฯ หรือวัดโสมฯ นี้ อาตมามีผ้าก็ไม่เอาไปอนุโมทนา เพราะว่าพระวัดนั้นมีผ้าเยอะแยะแล้ว ทอดกันบ่อยๆ จะเอาไปอนุโมทนาทำไม แล้วจะเอาไปอนุโมทนา ก็เอาหนังสือไปเท่านั้นเอง

เอาไปบอกว่า เอ้า เอาหนังสือไปถวายพระ ให้พระอ่านเสียบ้าง จะได้ฉลาดเสียบ้าง คิดแต่อย่างนั้น แต่ว่าจะให้เอาผ้าไปไม่เอาไป เพราะว่ามันเยอะแยะแล้ว แล้วอาตมาไปดู มีอยู่องค์หนึ่ง ขึ้นทุกทีองค์นั้น ไปเห็น เอ๊ะองค์นี้อีกแล้ว ที่กุฏิมีสักกีร้อยไตรก็ไม่รู้ เพราะไปทุกทีก็เจอองค์นั้นทุกที แต่ความจริงนั้นผ้าไม่ได้ไปถึงกุฏิหรอก เขาเอาคืนมาในป่าช้า หมุนไปหมุนมากันอยู่อย่างนั้นแหละ เราทำทำไม ทำอย่างนั้น เล่นละคร เรียกว่าเล่นละครให้คนดูว่า ฉันได้ทอดผ้า พระก็ไม่ได้ใช้ เพราะไม่ได้เอาไปใช้ ถึงเอาไปก็ใช้ไม่ได้ เพราะผ้านั้นเป็นผ้าเล็กๆ เขาเรียกว่าไตรหลวง ไตรหลวงใช้ไม่ได้ ของ หลวงนี่ ความจริงสมัยก่อนนี้ในหลวงท่านเจตนาดีจะให้พระได้ใช้ แต่ว่าพวกสังฆการีมันชวนกันกินกระตุ๊บกระตั๊บ เอาไปหมด เหลือแต่ผ้าไม่ได้เรื่อง เอามาถวายพระ มันเป็นอย่างนั้น จนพระพูดว่า เอ๊ะ ไตรหลวงอีกแล้ววันนี้ หมายความว่าเป็นไตรที่ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นของหลวง เพราะสังฆการีมันแบ่งเอาไปหมดแล้ว เหลือมาก็อย่างนั้นแหละ ไตรโยน ไม่ได้เรื่องอะไร อันนี้คือไม่ถูกเป้า

จุดหมายของเราที่เอาผ้าไปทอดนั้น คืออันแรกทีเดียวนี่ต้องการให้พระไปพิจารณาศพ ช่วยพระ เราต้องการช่วยพระ เพราะในงานศพนั้น มีคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "พลญฺจ ภิกขูนมนุปฺปทินฺนํ" พลัญจะ ภิกขูนะมนุปปะทินนัง นี่หมายความว่า เพิ่มกำลังให้แก่พระ เพิ่มกำลังให้แก่พระในงานศพ ก็เพิ่มทั้งสองอย่าง หนึ่งกำลังกาย เราถวายอาหาร การขบการฉัน เรียกว่าให้กำลังกาย อันนี้ไม่สำคัญเท่าได แต่ว่าเพิ่มกำลังอีกอย่างหนึ่ง คือเพิ่มกำลังใจให้แก่พระ คือให้พระได้มาพิจารณาศพ เพราะศพนี้เป็นดอกไม้ของพระ เป็นสิ่งที่พระควรดูควรชม แล้วจะได้เอาไปพิจารณาในแง่กัมมัฏฐาน ให้พิจารณาให้เห็นว่า มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะหนีพ้นไปได้ ศพนี้เป็นอย่างใด เราก็จะเป็นอย่างนั้น นี่คือการพิจารณา

เมื่อเป็นเด็กๆ อยู่ปักษ์ใต้ ถ้าวันมีศพเขาจะเผา เขาต้องยกศพไปวางกลางแจ้ง ไม่วางบนศาลา ชั้นแรกอยู่บนศาลา แต่พอจะเอาไปเผา เอามาวางกลางแจ้งก่อน เอาไม้รองไว้ แล้วก็เอาผ้าไปพาดปากโลง นิมนต์พระไปชักที่ปากโลง แล้วคำนิมนต์ก็พูดถูกต้อง ทางปักษ์ใต้พูดถูกต้อง เขาพูดว่า "นิมนต์พิจารณาเจ้าข้า" นิมนต์พิจารณา เขาไม่พูดว่านิมนต์ไปบังสุกุล เพราะบังสุกุลนี่ไม่ใช่คำว่าพิจารณา "บังสุกุล" แปลว่าเปื้อนฝุ่นเท่านั้นเอง ผ้าบังสุกุลก็คือผ้าเปื้อนฝุ่น แต่ว่าปักษ์ใต้เขาใช้คำพูดถูกต้อง พูดว่า "นิมนต์พิจารณาเจ้าค่ะ" พระก็ต้องไปพิจารนา คือไปพิจารณาศพนั่นเอง

แต่ว่าเขาเอาผ้าวางไว้เป็นทาน เพื่อให้พระได้ชักผ้าผืนนั้นเอาไปใช้ แต่ว่าก่อนจะชักผ้าไปก็ต้องไปยืนก้มอยู่นั้นก็ต้องเห็นศพ ศพนั้นมีสภาพมีอะไรต่ออะไรไม่น่าดู ถ้าดูให้ติดตาแล้ว ไปกุฏิก็นั่งหลับตาดู พิจารณาไป ช่วยให้จิตใจสงบ สะอาด สว่าง ทำให้เกิดปัญญา นั่นคือจุดหมาย ที่เขานิมนต์พระไปเพื่อกระทำอย่างนั้น

พระเรานี่ควรจะดีใจ เมื่อญาติโยมนิมนต์ไปพิจารณาศพ เพราะเราจะได้มีโอกาสศึกษาเรื่องชีวิตอย่างแท้จริง และฉากสุดท้ายของชีวิต ก็คือความตาย ไม่ได้อะไรก็ไปดูเถอะ จะได้ประโยชน์ทางจิตใจ ทายกก็ได้ให้อาหารใจแก่พระ นั่นคือจุดหมายที่แท้จริง ต้องการให้พระไปพิจารณาศพ

แต่เวลานี้เราไม่ได้เปิดหีบให้พระพิจารณา เราเอาสายสิจน์ผูกไป กลายเป็นประเพณีไป เป็นธรรมเนียมไป ไม่เข้าถึงเนื้อแท้ของเรื่อง เนื้อแท้ของเรื่องก็ ต้องเปิดหีบเลย เปิดแล้ววางไว้ก่อน อย่าให้ใครยุ่ง ให้พระไปดูแล้วก็จะได้เป็นภาพเตือนตาเตือนใจ มีจุดหมายอยู่ที่ตรงนั้น เอาผ้าไปทอดเพื่อจะได้ถวายผ้าท่านบ้าง เพื่อไห้ท่านเอาไปใช้ นี่คือจุดหมาย

เพราะฉะนั้น เมือเราเห็นว่า ผ้าที่จะเอาไปบังสุกุลนั้น ถ้าจะให้พระเอาไปใช้ได้ ก็ซื้อผ้าที่ใช้ได้ ไม่ต้องมากมายเกินไป เอาสักไตรหนึ่งก็ให้ใช้ได้ สักผืนหนึ่งก็ใช้ได้ อย่าไปนึก แหมศพนั้นเขาทอดทั้งไตร เรามันต้องทั้งไตรบ้าง แต่ให้นึกว่าทั้งไตร มันใช้ได้หรือเปล่า แล้วสบงผืนเดียวใช้ได้ อันไหนมันจะดีกว่ากัน มันสู้สบงผืนเดียวใช้ได้ดีกว่าทั้งไตรมันใช้ไม่ได้ ผืนเดียวใช้ได้ มันเป็นประโยชน์กว่า เราก็ควรจะถือด้านที่ว่าเป็นประโยชน์กว่า ดีกว่า เราก็ทำในรูปอย่างนั้น

เรื่องนี้มันเรื่องเกียรติ ที่เอาไปทอดกัน ทอดทีละเท่านั้นไตรเท่านี้ไตร มันมากมายก่ายกอง เป็นเรื่องเกียรติเท่านั้น ให้คนอื่นเห็นว่า บังสุกุลมากมายทีเดียว แต่ว่าเวลาอื่นนั้นไม่ค่อยพิจารณาอะไร นี่คือไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้องเราก็ทำ ได้โดยไม่ต้องเสียอกเสียใจในเรื่องอย่างนั้น นั่นเอาขึ้นเผา แล้วก็ชักมหาบังสุกุลไปตามเรื่องตามราว

อีกอันหนึ่งที่ควรจะแก้ไขก็คือว่า เวลาตั้งศพอยู่ บำเพ็ญบุญ ทุกคนที่มาต้องจุดธูป จุดคนละก้านๆ นี่โยมรู้ไหมว่ามลพิษมันเท่าไร ควันธูปที่กลบศาลาเป็นมลพิษเท่าใด อาตมาไปนั่งในศาลาแล้วมันสำลักทุกที มันไอทุกที เพราะควันธูปเข้าปากเข้าคอ มันเป็นพิษแก่ร่างกาย หรือว่าเวลาเทศน์ โยมคนไหนที่ไม่ชอบฟังเทศน์ นั่งจุดธูปเล่น คอยจุดไม่ให้ธูปดับ หูไม่เอา ไม่ได้จุดใจให้สว่าง คอยแต่จุดธูปอยู่อย่างนั้น ก็ต้องดุว่า โยมนี่มาจุดธูปหรือว่ามาฟังเทศน์ เลยถอยไป แกก็ถอยไป ก็ไม่รำคาญต่อไป เราเผาทำไมนักหนา จุดอะไรนักหนา

อาตมาอยากจะให้เอาอย่างในหลวง คืองานหลวง ในที่นี้โกฏิ มีเครื่องที่ใส่โกฏิมีค่า แต่ว่าของอื่นน้อยๆ ไม่มากอะไร โต๊ะบูชาอะไรเขาไม่มีมากอะไร ในงานหลวงมีนโยบายประหยัดอยู่เหมือนกัน เขาไม่มีอะไรมาก เขาไม่ให้ตั้งอะไร ของหลวงมีเท่านี้ ของอื่นตั้งไม่ได้ นี่คือช่วยเจ้าภาพอยู่ในตัว แล้วไม่ให้เพิ่มอะไร แล้วศพที่ใส่โกฏินี้ ไม่มีการจุดธูปบูชา ไม่มีการจุดเทียนบูชา ทำไมเขาไม่ให้จุดบูชา ปูพรมสวยๆ งามๆ ให้คนจุดมาก เดี๋ยวมันก็ไหม้พรม

เหมือนกับเทียนวัดเบญจมบพิตร มันกลายเป็นเทียนอัปราชัยไป มันล้มลงมาไหม้พรมในโบสถ์หมด แล้วควันกลบไปทั้งโบสถ์ หลวงพ่อก็เลยถูกรมดำไปด้วย ย่างหลวงพ่อเสียเลย แทนที่จะเสกให้ดี เสกให้หลวงพ่อดำไปเสียเลย นับว่าเก่งเหมือนกัน จุดจนหลวงพ่อจากทองกลายเป็นดำไปเลย นี่มันเรื่องอะไร เพราะควันมากเสียหาย จึงอยากจะแนะนำว่า ไม่จำเป็นจะต้องจุดธูปอะไร เราไปถึงเราก็นั่งลงกราบ นั่งลงกราบ แล้วก็นั่งสงบใจ นึกแผ่ส่วนบุญให้แก่ผู้ตาย หรือหลังจากนั้น เราก็นั่งบอกตัวเอง แล้วบอกว่า นี้แหละ ดูไว้บ้างเถอะ ชีวิตคนมันก็เท่านี้แหละ อยู่ในโลกวุ่นวายกันไปตามเรื่องตามราว แต่ผลที่สุดมันก็ตายอย่างนี้ ตายแล้วเอาอะไรไปได้บ้าง ตึกแถวไร่นาสาโท เงินทองในธนาคาร หรือเอาอะไรไปได้บ้าง ไม่มีอะไร มาเปล่า ไปเปล่า

สอนตัวเองด้วยการนั่งพิจารณาที่ศพ ได้ปัญญา แทนที่จะไปยุ่งกับจุดธูปจุดเทียนอยู่ เรามากันมากคน เป็นชุด มาเป็นชุด มาถึงเราก็ยืนสงบใจ สงบใจแล้วก็คำนับศพพร้อมกัน แล้วก็ยืนสงบใจอีกหน่อยหนึ่ง แล้วก็ถอยมา มันก็เท่านั้น หมดเรื่องแล้ว ไม่ต้องจุดธูปกัน มา ๑ คนจุด ๑ ก้าน คนละก้าน แต่มัน ๑๐ ก้าน ๒๐ คน ๓๐ คน ๑๐๐ คน ควันกลบศาลาแล้วควันโขมง แล้วศาลาเดี๋ยวนิ้กระจกทั้งนั้น ปิดกระจกไว้ ยิ่งจุดมากๆ ควันก็มาก มันไม่เหมาะ น่าจะช่วยกันเลิก คือไม่ต้องจุดอะไร แต่เราไปนั่งจุดใจเราให้สว่างขึ้นด้วยปัญญา ดีกว่าที่จะไปจุดธูปให้ควันโขมงโฉงเฉง เต็มไปทั้งศาลา นี่น่าจะแก้ไขทำให้ดีขึ้น เรื่องก็จะได้เบาบางลงไป นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งมีอยู่ในงานศพทั่วๆ ไป อย่างนี้ก็ต้องแก้ มันไม่จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น นี่อันหนึ่ง

นอกจากนั้นแล้ว ความสิ้นเปลืองในงานศพนี่ เขาพูดกันว่า งานศพเมืองไทยสิ้นเปลืองมากที่สุดในโลก มีคนกลุ่มหนึ่ง เขาไปหาข้อมูล เรียกว่าไปสำรวจตามวัดต่างๆ ตามงานศพ คุยกับคนทำศพ ปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก ทำศพแบบไทยสิ้นเปลืองมาก

ยิ่งทำศพแบบพี่น้องชาวจีนสิ้นเปลืองมาก โลงนี้ก็แพงแล้ว โลงจำปาก็แพง ความจริงโลงจำปาเดี๋ยวนี้มันโลงหลอกแล้ว ไม่ใช่เอาไม้ทั้งต้นขุดเหมือนเมื่อก่อน ก่อนนั้นเอาไม้ทั้งต้นมาขุดลงไป แล้วก็เรียกว่าโลงจำปา เดี๋ยวนขุดไม่ได้ เพราะไม้ไม่มี ก็เอาไม้มาประกอบเข้า ทำเป็นปีกออกไป ไม้ดีหน่อยก็ราคาแพง ราคาโลงใบหนึ่งตั้งห้าหกพัน แล้วไปซื้อที่ฝังที่ป่าช้าเมืองชล ป่าช้าเมืองสระบุรี ที่ฝังตั้งหมืนสองหมื่น ถ้าเนื้อที่มากออกไปก็ห้าหมื่นหกหมื่น

ชาวจีนเขามีประเพณีแปลก พี่ชายไปถึงซื้อที่แล้ว น้องชายไปซื้อบ้างต้องเพิ่มราคาให้อีก ไม่ให้ลด ลดไม่ได้ ถ้าลดมันจะทำให้ฉิบหาย ต้องเพิ่ม มันก็เจริญแก่เจ้าของป่าช้า ใครไปจับจองภูเขาไว้ขายมันก็รวยกันเวลานี้ ขายดินทำศพรวย สิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แล้วก็ทำพิธีเซ่นไหว้ เผากระดาษ เขาเรียกว่า กงเต๊ก กงเต๊ก หมายความว่าอย่างไร เปิดสูตรเหว่ยหล่างดูจะเข้าใจ คำว่ากงเต๊ก คือกุศล มันไม่ใช่บุญเฉยๆ บุญกับกุศไม่เหมือนกัน บุญคือความอิ่มใจสบายใจ แต่กุศลนั้น หมายถึงปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ

ในเรื่องนิกายเซ็นในเมีองจีน พระเจ้าแผ่นดินของประเทศจีนในสมัยนั้น ไปหาท่านโพธิธรรม ท่านโพธิธรรมมาจาก เมืองอินเดีย เข้าไปสอนในเมืองจีน พระเจ้าแผ่นดินไปถึงบอกว่า หม่อมฉันได้ทำอะไรบ้าง ได้สร้างวัดเท่านั้น ได้บวชคนเท่านั้น ได้สร้างนั้นสร้างนี้มากมาย พระเจ้าแผ่นดินสร้างมากมาย พระโพธิธรรมท่านตอบว่าอย่างไร แกตอบว่าไม่ได้ความทั้งนั้น ตอบพระเจ้าแผ่นดินว่า ที่ทำมาแล้วไม่ได้เรื่องทั้งนั้น มันไม่ได้กงเต๊กอะไร เขาเรียกว่าไม่ได้กงเต๊ก คือไม่ได้กุศล

มันได้แต่ความยิ่งใหญ่ให้คนชมว่า พระราชานั้นได้สร้างนั้นสร้างนี้ ติดชื่อไว้ตามโบสถ์ตามวิหาร ทำอะไรต่ออะไร แต่ว่ามัน ไม่ได้กงเต๊ก คือไม่ได้กุศล ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขูดเกลาใจ ให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ ยังทำเพื่อตัว ยังเอาตัวเป็นฐานรองรับ แล้วความเห็นแก่ตัวก็เจริญงอกงามขึ้น ท่านกล้าพูดกับพระราชาอย่างนั้น เพราะต้องการให้พระราชาเข้าใจความจริงของธรรมะ ในเหว่ยหล่างก็เหมือนกัน บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้กงเต๊ก คือไม่ได้กุศล ได้แต่ความสบายใจ

เหมือนพ่อแม่เราตาย เรียกว่า ทำกงเต๊ก เอาคนมาสวด เดี๋ยวนี้พระจีนมีน้อยแล้วเวลานี้ ไม่ค่อยมีพระ ก็เอาชาวบ้านมาแต่งตัวสวมเสื้อครุยเข้า แล้วก็นั่งสวดกัน พอสวดเหนื่อยเข้าก็นังโจ้ข้าวต้มกันอีกพักหนึ่ง แล้วก็สวดกันต่อไป กงเต๊กราคาก็แพง เดี๋ยวนี้ รถยนต์เอย กงเต๊ก สมัยก่อนไม่มี เดี๋ยวนี้มีรถยนต์ มีโทรทัศน์ มีวิทยุ มีหลายอย่าง ล้วนแต่เป็นกระดาษทั้งนั้น เรียกว่าธนบัตรกงเต๊กนี่ก็มัดใหญ่ๆ เอาไปใช้ ล้วนแต่ธนบัตรกงเต๊กทั้งนั้น แต่ว่าใช้ไม่ได้ ทำกันมากมาย เสียเงินเสียทองค่ากระดาษนี่ไม่รู้ว่าเท่าไร แล้วเอาไปไหน เอาไปเผาเท่านั้นเอง นี่เขาเรียกว่าทำลาย ไม่ได้ทำเพื่อสร้างสรรค์

ทำไมต้องทำอย่างนั้น ไม่ทำก็ไม่ได้ เตี่ยตายลื้อไม่ทำกงเต๊กให้ คนมันก็นินทาว่า ลื้อนี่มันใช้ไม่ได้ เตี่ยตายลื้อไม่ทำกงเต๊กให้เตี่ย มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ บางทีอ้ายลูกก็ไม่ค่อยดูแลเตี่ยเท่าไรหรอก แต่พอตายแล้ว แหม ไปนั่งบีบน้ำตา อาเตี่ยโอ้ย อาเตี่ยโอ้ย ว่าอย่างนั้น ร้องไห้ร้องห่มกันเป็นการใหญ่ อวดซาวบ้านว่ากูเสียใจเว้ย แต่พอเข้าไปหลังฉาก หัวเราะกันต่อไปว่า กูร้องบทละครเท่านั้นเอง ไม่ได้ร้องจริงจังอะไร แล้วเอาข้าวไปให้กินเอาอะไรไปให้กิน เวลาเป็นๆ อยู่บางทีไม่ได้สนใจอะไร เตี่ยจะกินอะไร จะนอนอย่างไร ก็ไม่ได้สนใจ ไม่เคยยกกับข้าวไปตั้งให้กิน ไม่เคยป้อนข้าวให้กิน มันเป็นอย่างนั้น

แต่ว่าพอตายแล้วต้องเอาไปเซ่นทุกวัน นี่เขาเรียกว่าทำเพื่ออวดคนมากกว่า ไม่ได้ทำเพื่อจุดหมายที่ถูกต้อง เขาทำกันอย่างนั้น แล้วก็สิ้นเปลืองเงินทองไปเท่าใด ไม่ใช่เล็กน้อย บางคนบอกว่า แหม ผมอยากจะเอาเตี่ยไปเผา แต่ไม่ได้คุณลุงเขาไม่ยอม แม่ก็ไม่ยอม เขาบอกว่า ต้องเอาไปฝังที่สระบุรี แล้วเอาไปฝังมันก็แพง ไปเผาวัดทองธรรมชาติมันถูกกว่า บ้านเขาอยู่แถวปากคลองสาน นิมนต์อาตมาไปเทศน์ เขาบ่นไปตลอดทาง ผมมันอยากเผา แต่ญาติผู้ใหญ่เขาไม่ยอม เขาอยากเอาไปฝัง

ความจริงสมัยนี้ฝังมันเปลืองเนื้อที่ เขาว่าของเขาเอง อาตลมาก็ฟังๆ เออคุณนี่มันคิดถูก แต่มันถูกอยู่คนเดียวในตระกูลของคุณ คุณลุงของคุณก็ไม่เห็นด้วย คุณแม่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะท่านเหล่านั้นท่านเป็นคนแก่ ท่านยึดถือในธรรมเนียมเก่าๆ โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องปล่อยไปก่อน เพราะว่าจะไปง้างนักมันก็ลำบาก เดือดร้อนเปล่าๆ บางทีพูดมากเขาว่า ลื้อมันเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียแล้ว มันไปขนาดนั้น คนคิดถูกกลายเป็นคนคิดผิดไป คนจะทำให้ดีกลายเป็นคนทำให้ร้ายไป แต่คนที่ยุให้ฉิบหายกลับชอบใจ มันเป็นอย่างนี้

บ้านเมืองเรามันลำบากตรงนี้ ลำบากอย่างนี้ การเปลี่ยนแปลงอะไรมันจึงไม่เกิดขึ้น นี่เรื่องงานศพเป็นอยู่อย่างนี้ทั่วๆ ไป มีมากมายก่ายกอง แล้วเผาศพเสร็จแล้วก็มีปัญหาเรื่องกระดูกอีก จะเอาไปไว้วัดไหน จะเอาไปทำอะไร ต้องมาหาที่ก่ออะไรไว้ ที่วัดนี้ก็มาก่อมากแล้ว อาตมาบอกว่าพอกันที เรื่องเอากระดูกมาไว้วัดพอแล้ว เอาไปทิ้งทะเลดีกว่ามันกว้างขวางดี ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น คนก็เอามาไว้ แล้วก็เที่ยวสร้างรุงรังอยู่ในวัด มันก็ลำบาก ต่อไปลูกหลานตายหมดไม่มีใครเหลียวแล

บางวัดที่มีมากๆ สอบถามสมภารดูว่า นี่เขาเอามาไว้ๆ นี่เคยเสียภาษีเดือน ๕ บ้างหรือเปล่า สมภารว่ามันไม่เคยมา มันตายหมดแล้วสกุลนี้ ขุดทิ้งได้แล้ว เพราะไม่ไปบังสุกุลเลย ที่เขาเก็บไว้เดือน ๕ เขามาบังสุกุล เดือน ๑๐ เขามาบังสุกุล มันยังคิดถึงพ่อถึงปู่ มันอยู่ก็ยังใช้ได้ ยังเอาไว้ได้ บางรายไม่เคยมาเลย ๑ ปี นี่ขุดทิ้งได้แล้ว เพราะว่าลูกหลานมันตายหมดแล้ว ไม่มีใครว่าแล้ว สมภารว่า ขุดไม่ได้ เดี๋ยวมันมาเห็นเข้า มันว่าเอาอีก มันลำบาก มัน รกรัด ลำบากเหมือนกัน อาตมาเลยบอกหลวงตาว่า พอแล้ว เวลานี้ รั้วแถวนั้นเต็มแล้ว ไม่ไหวแล้ว อย่าเอามาไว้อีกต่อไป

เราควรเอาอะไรของคุณพ่อคุณแม่ไว้ กระดูกนั้นเอาไว้ หรือกระดูกนั้นสำคัญอะไร มันก็เป็นวัตถุเท่านั้น เผาแล้วก็เป็นขี้เถ้าไป ความจริงน่าจะเผาให้หมดเป็นขี้เถ้าไปเลย ไม่ต้องไปเก็บ ลำบาก เมื่อเป็นขี้เถ้าแล้วเอาไปโปรยในแม่น้าเจ้าพระยาก็ได้ หรือเอามาฝังไว้ในวัดก็ได้ ฝังตรงไหนก็ได้ ใต้ต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย ต้นไม้ต่อไป อย่าไปยึดถืออะไรเลย ของเป็นกระดูก สิ่งที่เราควรเอาไว้นั้นคืออะไร คือคุณงามความดีของผู้นั้น พ่อเราดีอย่างไร แม่เราดีอย่างไร คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยายเราดีอย่างไร เราก็ควรเอาสิ่งนั้นไว้ เอาความดีนั้นไว้ ใส่ไว้ในใจของเราต่อไป เรารักษาความงามความดี ถ่ายทอดสิ่งดีสิ่งงามไว้ในใจของเรา รักษาไว้ไม่ให้หายหกตกหล่น จึงจะเป็นการถูกต้อง พระพุทธเจ้าเวลาจะนิพพาน พระอานนท์ถามเหมือนกัน ถามเรื่องศพ ถามว่า จะทำอย่างไรกับศพของพระองค์ พระพุทธเจ้าบอกว่า มันไมใช่เรื่องของพระ เรื่องของชาวบ้าน เขาจะจัดจะทำอย่างไร มันเรื่องของเขา พระไม่เกี่ยว ท่านว่าอย่างนั้น

พระอานนท์บอกว่า ชอบแล้วที่พระไม่เกี่ยวข้อง แต่ว่าเมื่อพระองค์นิพพานแล้ว คนเขาจะมาถามข้าพระองค์ ถ้าข้าพระองค์ตอบไม่ได้ เขาจะหาว่า พระอานนท์ขาดสติ ขาดปัญญา ไม่ถามเรื่องที่ควรถาม จึงถามไว้ เมื่อพระอานนท์บอกอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้ทำศพของตถาคตอย่างกับศพของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทำอย่างไร ศพของพระเจ้าจักรพรรดิ์ คือให้ห่อด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าขาว ห่อด้วยสำลีห่อด้วยผ้าขาวทั้ง ๕๐๐ ชั้น ห่อหนาทีเดียว ๕๐๐ ชั้น แล้วก็เอาใส่ลงในรางเหล็กมีน้ำมันเต็ม แช่น้ำมันไว้ เวลาพอสมควรแล้วเอาไปเผา เวลาไปเผาน้ำมันที่ติดอยู่ในผ้าในสำลีจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เล้วก็จุดไฟเผาง่าย พระองค์ให้ทำอย่างนั้น

เมื่อทำแล้วพระอานนท์ถามว่า แล้วอัฐิที่เหลือจะทำอย่างไร พระองค์ก็บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของประชาชนเขา เขารักใคร่นับถือ เขาก็เอาไปบรรจุไว้ตามทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่ง คนได้กราบไหว้บูชาสักการะ เรียกว่า เบ็่นเจดีย์ เจดีย์ในสมัยพระพุทธเจ้า เป็นดินธรรมดา เอาไปฝังลง แล้วเอาดินมาพูนไว้ พูนเสร็จแล้วก็เอาร่มไปปักไว้บนนั้นอันหนึ่ง ทำเป็นฉัตรเอาไปกางไว้ ไม่ได้ก่อด้วยอิฐ เพราะสมัยนั้นอิฐยังไม่มี มาในสมัยหลังก็เลยก่อด้วยอิฐแข็งแรงเป็นเจดีย์ สมัยนี้จะหาพระธาตุมาบรรจุ ก็ไม่ไหวแล้ว แต่ว่ายังสร้างเจดีย์กันอยู่ สร้างให้มันมีเจดีย์ในวัด ความจริงไม่ต้องสร้างแล้ว เพราะว่าเราสอนธรรมะกันดีกว่า เอาธรรมะไปไว้ในใจคน ดีกว่าไปสร้างเจดีย์ตามสถานที่ต่างๆ

คนเคยถามวัดนี้ว่า วัดก็หลวงพ่อไม่มีเจดีย์ ถามว่าเจดีย์ เอาไว้ทำอะไร บรรจุพระธาตุ แล้วจะเอาพระธาตุมาจากไหน พระพุทธเจ้านิพพานตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว จะเอาพระธาตุมาจากไหน บอกว่า ไปขอจากพระสังฆราชก็ได้ แล้วพระสังฆราชจะเอามาจากไหน ถ้าขอกันทุกคนท่านจะเอาพระธาตุที่ไหนให้ มีพระองค์หนึ่งเที่ยวแจกพระธาตุอยู่ พระธาตุเป็นกะด้ง ใส่กะด้งมาตั้งกะด้ง เหมือนกะด้งฝัดข้าวทางปักษ์ใต้ มีพระธาตุตั้งกระด้ง เอามาจากไหน ถ้ารู้แหล่งแล้วไปเอาเองก็ได้ คือว่าที่แม่น้ำชานเมืองเชียงใหม่ มีน้ำไหลเชี่ยว แล้วก็มีทรายเม็ดเล็กๆ สีต่างๆ สีดำสีขาวสีแดง ถ้าเราเอากะบะไปโกยแล้วก็ร่อน ร่อนเอาแต่เม็ดเล็กๆ จะได้พระธาตุมากมายทีเดียว แล้วเอามาแจกกัน แล้วบอกว่า นี่พระธาตุ ธาตุอะไร ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็ธาตุทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเขาไปบอกว่า นี่แหละธาตุของพระพุทธเจ้า นี่เขาเรียกวำดึงคนให้เข้าไปหลงอีกแล้ว ให้ไปหลงติดพระธาตุ เลยให้มีพระธาตุ

ธาตุแท้ของพระพุทธเจ้าคืออะไร คือพระธรรมนั่นเอง พระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เรียกว่า ธาตุแท้ ธรรมธาตุ ธรรมธาตุนี่เป็นธาตุแท้ของพระพุทธเจ้า พระธาตุนี้ไม่ต้องใส่เจดีย์ แต่เอามาใส่ไว้ในใจของเรา เอามารักษาไว้ในใจของเราแล้วก็ถ่ายทอดไปถึงลูก หลาน เหลน ของเราต่อไป ไม่ลำบาก เป็นพระธาตุเดินได้ เราเดินไปพระธาตุก็ไปกับเรา ทำอะไรพระธาตุก็อยู่กับเรา เราไม่ต้องไปสร้างเจดีย์ใหญ่โต ทำนั่นทำนี่ แล้วเอาพระธาตุไปไว้กันต่อไป ให้มันวุ่นวาย มันเป็นอย่างนั้น สมัยนี้คือว่าเอาวัตถุเข้าไปล่อคน แต่ไม่เอาธรรมะเข้าไปจูงใจคน คนก็ไปติดในวัตถุ จึงติดพระเครื่อง ติดเครื่องรางติดของขลัง ติดพิธีรีตรองต่างๆ ยิ่งติดมากเท่าใด ยิ่งห่างพระพุทธเจ้าออกไปมากเท่านั้น เพราะไปพึ่งสิ่งนั้น เอาสิ่งนั้นมาช่วยตน

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ให้ช่วยตัวเอง ให้พึงตัวเอง ช่วยตัวเองด้วยอะไร ด้วยการประพฤติธรรม ถ้าเราประพฤติธรรม เรียกว่าเราช่วยตัวเอง เราพึ่งตัวเอง ต้องทำจิตใจให้เจริญขึ้นหน่อย อย่าเป็นเด็กอมมือตลอดเวลา เด็กอมมือชอบตุ๊กตา ชอบอะไรต่ออะไร ชอบของเล่นเรื่อยไป เข้าในโบสถ์ไหน ถ้ามีกระบอกก็จับสั่นอยู่ นั่นมันไม่ได้เรื่องอะไร เรียกว่าไปเป็นเด็กอยู่กับไม้เรียวๆ ให้สั่นเล่น ได้สักใบแล้วก็อ่านหัวเราะกันคิกคัก ของลื้อดีไหม คู่ครองเป็นอย่างไร เมื่อไหร่จะเกิดมันเกิดแล้ว แต่ยังไม่เห็นหน้ากัน มันไปอย่างนั้น มันเล่น เราเข้าไปในโบสถ์ ไม่ใช่ไปเล่น ไม่ใช่ไปนั่งสั่นกระบอกเล่น ทำพิธีเล่นๆ เราไปสงบใจเพื่อไปหาพระพุทธเจ้า เพื่อเอาพระพุทธเจ้ามาใส่ไว้ในใจ จุดหมายมันอยู่ที่ตรงนั้น แต่คนไม่เข้าใจ เลยไปติดอยู่ในวัตถุดังกล่าวมาด้วยประการต่างๆ

นี่เอามาพูดสู่กันฟังเสียบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า อะไรมันเป็นอะไร แล้วเราจะได้ทำกันเป็นการถูกต้องต่อไป อาตมานี่อึดอัดเวลาเขาทำศพแบบสิ้นเปลือง พอจะเผาก็เปรี้ยง ระเบิดกันไม่รู้เรื่องอะไรที่ต้องจุดระเบิดกันอย่างนั้น มันไม่ได้เรื่อง สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ประโยชน์ ตัดทิ้งไปเสียบ้าง เอาแต่เนื้อๆ แล้วก็จะสบาย

ดังที่ได้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๕

Find the best web hosting service and read ipage review for more information.
มูลนิธิภิกขุปัญญานันทะ | Develop by บ้านจิตอาสา | Webmaster : [email protected]